บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

บาปหรือบุญใช้อะไรตัดสิน


ไปอ่านพบในกระทู้แห่งหนึ่ง  คนถามถามไว้น่าสนใจ ดังนี้ “บาป หรือไม่บาป ใช้หลักอะไรตัดสินอ่าครับ ไม่ได้กวนนะ ผมอยากรู้จริงๆ

มีอีกกระทู้หนึ่ง เนื้อหาคล้ายกัน ชื่อกระทู้ก็คือ “พุทธศาสนาใช้อะไรตัดสินบุญ-บาปครับ ใช่เจตนาไหม  เนื้อหาของกระทู้ก็มี ดังนี้

พอดีว่าไปอ่านเจอหลัก อกุศลกรรมบถ 10 มีดังต่อไปนี้ครับ
1. ทำร้ายสิ่งมีชีวิต ฆ่าสัตว์
2. ขโมย ลักทรัพย์ ฉ้อโกง
3. ประพฤติผิดในกาม
4. โกหก หลอกลวง
5. พูดส่อเสียด ดูถูก
6. พูดหยาบ
7. พูดเพ้อเจ้อ นินทา
8. เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
9. คิดร้ายผู้อื่น ผูกพยาบาท
10. เห็นผิดจากความจริง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

สงสัยว่า สิบข้อข้างต้น ทำแล้วจะบาปไหมครับ แล้วเหตุใดไม่มีเสพย์ของมึนเมา เสพย์ของมึนเมาไม่บาปใช่ไหมครับ

ปัญหาดังกล่าวนี้ เป็นปัญหาที่พุทธศาสนิกชนให้ความสนใจกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยมีพระรูปไหนสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน 

ส่วนใหญ่ก็ว่ากันไปตามคำสอนที่ได้รับมา  บางท่านก็ตีความออกไปจนสุดกู่  อย่างเช่นพุทธทาส

ก่อนที่จะกล่าวถึงว่า ประเด็นดังกล่าววิชาธรรมกายสอนไว้ว่าอย่างไร เรามาดูความคิดเห็นของคนในสังคมออนไลน์กันก่อน

ความคิดเห็นที่  1

การกระทำให้จิตสะอาดขึ้นเป็นบุญ  การกระทำให้จิตเศร้าหมองเป็นบาป

การกระทำให้จิตสะอาดขึ้นโดยตรงจึงเป็นบุญมาก  รักษาศีลจึงถือว่าเป็นบุญมากกว่าทาน   การทำกรรมฐาน (สมาธิ วิปัสสนา) จึงถือว่าเป็นบุญมากกว่า รักษาศีล

ความคิดเห็นที่  2

การจะบาป ไม่บาปอยู่ที่เจตนาครับ ว่าเรามีเจตนาที่เป็นกุศล หรือไม่เป็นกุศล

ความคิดเห็นที่  3

บุญ-บาป ขึ้นอยู่กับเจตนา  บางคนไม่เชื่อเรื่อง หลักกรรมและวิบาก  เจตนาจึงรุนแรงกว่าปกติ  คือ ไม่สะดุ้งกลัวต่อบาปเลย  เหมือนคนที่ไม่รู้จักว่าเหล็กนั้นร้อนอยู่ เผลอไปจับเข้า

และวิบากกรรมที่จะส่งผลในอนาคต ก็จะมีลักษณะคล้ายกับเจตนาที่ได้เคยกระทำไว้  เช่น ฆ่าสัตว์เจตนาให้สัตว์อายุสั้น ผลคือ อายุสั้น เป็นต้น

ความคิดเห็นที่  4

ถ้ามีสังคมหนึ่ง ที่สอนว่าเจตนาฆ่าคนอีกเผ่าหนึ่ง ไม่บาปแต่ได้บุญ ไม่มีอกุศล ไม่ได้คิดอกุศล  บาปหรือไม่บาป?

ความคิดเห็นที่ 1-3 ก็เอามาจากคำสอนในศาสนาคือ ใช้เจตนาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน  แต่พอเจอความคิดเห็นที่  4 เข้า ผมคิดว่า คนที่เขียนมาในความคิดเห็นที่ 1-3 ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน

ขอยกตัวอย่างพวกระเบิดพลีชีพ (suicide bomb) ของพวกหัวรุนแรงจะเหมาะสมที่สุด

ระเบิดพลีชีพ (suicide bomb) นี้ ตอนนี้ได้รับความนิยมในพวกอิสลามหัวรุนแรง แต่เริ่มต้นนั้นมาจากพวกพยัคฆ์ทมิฬ กบฏของประเทศศรีลังกา

ระเบิดพลีชีพคนแรกของโลกเป็นเด็กผู้หญิงชาวทมิฬชื่อ “ดนุ”  ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬคนที่ดนุต้องการฆ่าก็คือ ราจีพ คานธี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย  

การระเบิดครั้งนั้น นอกจากดนุ ราจีฟแล้ว คนข้างๆ ตายไปอีก 14 คน

อาวุธของดนุก็คือ เข็มขัดระเบิด

พวกที่อาสาสมัครเป็นระเบิดพลีชีพที่เป็นอิสลามนี้ จะได้รับคำสอนว่า “สามารถขึ้นสวรรค์ไปเลย” ไม่ต้องคำพิพากษา

ดังนั้น คำว่า “เจตนา” เป็นเกณฑ์ในการตัดสินบุญบาปก็ใช้ไม่ได้เหมือนกันในกรณีดังกล่าว 

ความคิดเห็นที่  5

บาป_บุญ. ไม่มีใครที่จะมีอำนาจมาตัดสินได้. แม้พระเจ้าก็ทำไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ละเอียดมีหลายปัจจัยที่ต้องให้เป็นบุญหรือบาป.

แม้เจตนา หรือไม่เจตนา จะคิดหรือไม่คิด ให้ติดค้างใจ  กรรมจะทำหน้าที่อย่างยุติธรรม เป็นไปตามกฎแห่งกรรม

ความคิดนี้ “มั่ว”  มีทั้งพระเจ้า มีทั้งกรรม  คำว่า “กฎแห่งกรรม” นี่ก็มั่ว  คือ ผู้ให้ความคิดเห็นนี้มีความรู้ไม่มากนัก ความคิดก็ไม่มากนัก แต่อยากจะแสดงความเห็น

ความคิดเห็นที่  6

ส่วนเรื่องจะบอกว่า อะไรบุญหรือบาป  ผมคิดอย่างนี้ครับ

ถ้าใช้นิพพานเป็นเกณฑ์การตัดสินหละก็ อะไรก็ตามที่ทำแล้วลดละกิเลสให้น้อยลงได้หละก็ ถือว่าเป็นบุญ  เช่น การทำทาน ถ้าทำเพื่อสละออกก็ได้บุญ แต่ถ้าทำเพื่อเอาหน้า ก็ไม่ได้บุญ เพราะเป็นการทำเพื่อพอกพูนกิเลส

ส่วนการกระทำอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นไปเพื่อการเพิ่มกิเลสแล้ว ผมคิดว่านั้นคือบาปครับ

ความคิดเห็นที่ 6 นี้ก็เข้าท่า  แต่ก็เป็นปัญหาอีกเหมือนกันเพราะว่า เกณฑ์ดังกล่าวก็คงเป็น “ทฤษฎี” หรือปริยัติ

ในทางปฏิบัติก็ยังไม่รู้อีกนั่นแหละว่า การกระทำใดเป็นบุญ หรือเป็นบาปกันแน่

ในทางปฏิบัติโดยทั่วไป  ผมก็ขอแนะนำให้ยึดหลักการของ “กุศลกรรมบถ 10 กับอกุศลกรรมบถ 10” เอาไว้ก่อน

สิ่งไหนที่เป็น “กุศลกรรมบถ 10” และคำสอนอื่นๆ ของพระพุทธเจ้าในทำนองเดียวกันนี้ เป็นบุญ 

ส่วนสิ่งไหนที่เป็น “อกุศลกรรมบถ 10” และคำสอนอื่นๆ ของพระพุทธเจ้าในทำนองเดียวกันนี้ ก็เป็นบาป

สำหรับประเด็นนี้ ในทางวิชาธรรมกายมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนมาก แบบไม่ต้องสงสัยอะไรอีกเลย

“บุญ”, “บาป”, “ไม่บุญไม่บาป/เป็นกลาง” ทั้ง 3 ประการนี้ ในส่วนละเอียดแล้วมีลักษณะเป็นดวง
- “บุญ” เป็นดวงใส
- “บาป” เป็นดวงดำ
- “ไม่บุญไม่บาป/เป็นกลาง” เป็นดวงสีตะกั่ว

คนเราทุกคนมีทั้ง 3 ดวงอยู่ที่ฐานที่ 7 ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว  การกระทำใดก็ตาม ที่ทำให้ดวงเหล่านั้น ใหญ่ขึ้นก็เป็นกรรมชนิดนั้น

- การกระทำใดก็ตาม ดวงบุญ ใสขึ้น ใหญ่ขึ้น ก็เป็นการกระทำที่ได้บุญ
- การกระทำใดก็ตาม ดวงบาป ดำขึ้น ใหญ่ขึ้น  ก็เป็นการกระทำที่ได้บาป
- การกระทำใดก็ตาม ดวงไม่บุญไม่บาป/เป็นกลาง เป็นสีตะกั่วเพิ่มขึ้น ใหญ่ขึ้น  ก็เป็นการกระทำที่เป็นกลางไม่บุญ ไม่บาป

ดวงทั้ง 3 ดวงนี้ พวกที่ฝึกผ่านวิชา 18 กายสามารถดูได้ทุกคน

ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า  วิชาธรรมกายสามารถอธิบายประเด็นนี้ได้ดีที่สุด ไม่มีใครหน้าไหนอธิบายได้ดีกว่านี้อีกแล้ว

ขอให้ดูบทสวด ธมฺมสงฺคณี ด้านล่าง

กุสลาธมฺมา
ธรรมทั้งหลายเป็นกุศล คือไม่มีโทษอันบัณฑิต ติเตียน มีสุขเป็นวิบากต่อไป
อกุสลาธมฺมา
ธรรมทั้งหลายเป็นอกุศล คือมีโทษอันบัณฑิต ติเตียน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป
อพฺยากตา ธมฺมา
ธรรมทั้งหลายที่เป็น อัพยากฤต คือท่านไม่พยากรณ์ว่า เป็นกุศล หรืออกุศล คือเป็นธรรมกลางๆ

ธรรมะมี 3 ประเภท พระทุกรูปรู้ดี เพราะสวดกันเป็นประจำ  แต่ไม่เคยมีพระรูปไหน หรือนักวิชาการคนใดกลุ่มไหนที่บอกได้ว่า "อพฺยากตา ธมฺมา" คืออะไร เป็นอะไร ส่งผลอย่างไร

ส่วนใหญ่จะพูดถึงเพียง บุญ กับ บาป เท่านั้น

ธรรมะที่เป็นกลางก็เช่น การกินข้าว อาบน้ำ นอน เดินเล่น ฯลฯ เป็นต้น การกระทำดังกล่าวนั้น ไม่ได้ส่งผลบุญ หรือผลบาป



-------------------------
เขียนโดย ดร. มนัส โกมลฑา Ph.D. (สหวิทยาการ)
www.manaskomoltha.net
Facebook Fanpage: https://www.facebook.com/manas4299/
Line ID : manas4299
Youtube: https://www.youtube.com/user/mommeam4299/
โทรศัพท์ : 083-4616989


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น